Nissan Leaf แรง ขับสนุก ตอบสนองทันใจ..ชาร์จไฟฟ้ากลับได้ด้วยตัวเอง

  • October 17, 2019

     บนทางหลวงหมายเลข 1009 สายจอมทอง-อินทนนท์ หลังเริ่มต้นการเดินทางจากในตัวเมืองเชียงใหม่ ขับขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย เป็นเส้นทางที่มีโค้งและสภาพสูง-ต่ำต่างกัน และมีความแตกต่างด้านภูมิประเทศ พรรณพืชและสัตว์ป่า ภาพยอดเขาที่ปกคลุมไปด้วยหมอก เต็มไปด้วยกล้วยไม้ ป่าไม้ผลัดใบและป่าสน

 

      ได้ลองขับ นิสสัน ลีฟ  รถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วน 100%  จนมาถึงพระมหาธาตุนภเมทนีดล ปูชนียสถานสำคัญที่ประดิษฐานบนที่สูงที่สุดแดนสยาม ผมจิบกาแฟและยืนรับอากาศหนาวนิดๆ ชื่นชมรูปทรงสัณฐานพระมหาสถูปเจดีย์ ที่มีลักษณะแตกต่างจากรูปแบบของศิลปะในอดีต ที่สร้างขึ้นเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาส ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ที่งดงามสมเป็นพระมหาธาตุแห่งดอยอินทนนท์

     ก่อนหน้านี้ไม่นานทีมงานของเราเคยมีโอกาสร่วมทดลองขับ นิสสัน ลีฟ คันนี้แบบชาร์จไฟครั้งเดียว เที่ยวทั่วกรุง เพื่อตอบโจทย์หลักของทางนิสสันที่ให้ไว้กับสื่อมวลชนผู้ร่วมทดสอบว่า การชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง รถจะวิ่งได้ตลอดวัน ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้หรือไม่ และรูปแบบการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 แบบ เพื่อพิสูจน์สมรรถนะกันแบบชิมลาง ส่วนในครั้งนี้ นิสสัน ประเทศไทย ชวนมาร่วมทดสอบ นิสสัน ลีฟ ใหม่ กันแบบเต็มๆ กับการขับแบบแอ่วดอยไต่เขาบนระยะทางท้าทาย รวมไปถึงระบบฟื้นฟูพลังงานด้วยการเบรก หรือชะลอความเร็วขณะขับขี่ เพื่อพิสูจน์สมรรถนะในการพิชิตยอดดอยอินทนนท์ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย ภายใต้การชาร์จไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวอีกเช่นเดิม

 

ดีไซน์ทันสมัย ในแบบแฮทช์แบ็คทูโทน   

      น้ำหนักของพวงมาลัยหุ้มหนังทรงกลม ตัดท้ายเรียบ แบบฉบับรถสปอร์ต ปรับระดับขึ้น-ลงได้ ให้ความแม่นยำดีในการควบคุม ผมชอบการใช้โทนสีน้ำเงินกับปุ่มสตาร์ท และเกียร์ที่ให้ความรู้สึกถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย การปรับดีไซน์ให้หน้าจอและรูปแบบของไฟแสดงข้อมูลของคนขับใช้งานง่ายขึ้น มาตรวัดความเร็วแบบอนาล็อกกับหน้าจอแสดงผล ทางด้านซ้ายหน้าจอสีบอกปริมาณกำลังไฟฟ้าที่ใช้ตามการกำหนดค่ามาตรฐาน หน้าจอแสดงผลตรงกลาง แสดงให้เห็นการทำงานของระดับการชาร์จไฟของรถ และพลังงานที่เหลืออยู่

      สีในแบบทูโทนภายใต้ตัวถังสีขาว Brilliant White Pearl และด้านบนหลังคาสีดำ ภายนอกเรียบง่ายแต่ดูโฉบเฉี่ยวกับรูปทรงที่ดึงดูดสายตาสะท้อนตัวตนของยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต เส้นสายที่เรียบง่ายสะอาดตา แต่แฝงไปด้วยความดุดัน รวมไปถึงความโฉบเฉี่ยวของการเล่นแสงเงาตามหลักแอโร่ไดนามิกส์

     ลวดลายตาข่ายสีน้ำเงินสว่างแบบสามมิติ เสริมความโดดเด่นให้กับกระจังหน้าแบบ V-Motion ฝากระโปรงหน้าที่ลาดต่ำผสมผสานอย่างลงตัวกับกระจกด้านหน้าที่ทอดยาวไปจนถึงหลังคา บวกกับไฟ Daylight ทรงบูมเมอแรง ไฟท้าย LED ทรงสวยกำลังดี ติดติดตั้งสปอยเลอร์ท้ายเพื่อเพิ่มความสปอร์ต กับช่วงล่างด้านหน้าใช้แบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมคอยล์สปริง ส่วนด้านหลังเป็นแบบทอร์ชั่นบีมพร้อมคอยล์สปริง ทั้ง 4 ล้อใช้ระบบดิสก์เบรก

 

        ที่สำคัญจุดช่องเสียบสายชาร์จไฟ บริเวณด้านหน้ารถได้รับการออกแบบใหม่เพื่อให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเจ้าของรถสามารถเสียบสายชาร์จโดยไม่ต้องก้มตัวลงมาเหมือนรุ่นก่อน ด้วยหลักการออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ของนิสสัน แสดงให้เห็นว่าช่องเสียบสายชาร์จไฟใหม่ที่ถูกติดตั้งในระดับ 45 องศา ทำให้ผู้ใช้งานที่มีระดับความสูงต่างกันสามารถเสียบสายชาร์จไฟได้อย่างสะดวกและติดตั้งสัญลักษณ์ Zero Emission เพื่อบ่งบอกว่า รถคันนี้ไม่ปล่อยไอเสียสู่ท้องถนน หรือก่อให้เกิดมลภาวะอย่างแน่นอน 

 

       ส่วนเบาะนั่งด้านข้างประตู ที่วางแขน และพวงมาลัยเดินตะเข็บการเย็บสีฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรถยนต์ไฟฟ้านิสสัน การออกแบบภายในสีดำล้วนช่วยให้บรรยากาศเรียบหรู ตัดกันกับสีเทาเข้มของคอนโซลกลาง ภายในของ Nissan Leaf นั้น ยึดแนวทางการออกแบบสไตล์ Gliding Wing เป็นแนวทางหลัก ใช้สีดำเป็นสีหลักของวัสดุภายใน ห้องโดยสารภายขนาด 5 ที่นั่ง เบาะที่นั่งผู้โดยสารด้านหลังพับเก็บได้ 60:40 และปรับได้ พร้อมห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายที่กว้างขวาง ความจุ 435 ลิตรที่กว้างพอสำหรับเก็บกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่

       นั่งขับคอนโทรลได้ถนัด นุ่มกระชับ สบาย โปร่งโล่ง แม้ในห้องโดยสารไม่มีซันรูฟ ไม่มีช่องแอร์หลังมาให้ และมีคอนโซลกลางแบ่งห้องโดยสารก็ไม่ได้ทำให้ภายในรถดูคับแคบไปแต่อย่างไร ทัศนวิสัยในการขับ ด้านหน้าดี ด้านข้างโอเค. ส่วนด้านหลังกระจกมองหลังบานเล็กการมองผ่านจะติดหัวหมอนเบาะกลางของแถวหลังอยู่นิดหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่

      โดยรวมในเรื่องดีไซน์การออกแบบทั้งภายนอก และห้องโดยสาร นิสสัน ลีฟ  ทำได้ดีและได้รับการันตีรางวัลมากมายจากทั่วโลกมากกว่า 120 รางวัล ด้วยแรงบันดาลใจจากรถต้นแบบ IDS Concept ในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2015 และจากประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดากว่า 70 ปีของนิสสันในรถยนต์ไฟฟ้า ที่เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2490 จากรถยนต์รุ่น ทามา ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของทางนิสสัน

 

ถอดปลั๊กขับ e-powertrain สร้างแรงดึงและให้อัตราเร่งที่น่าประทับใจ

      หลังถอดปลั๊กเข้าโหมดการขับบนเส้นทางทดสอบในระยะทางท้าทายกว่า 200 กิโลเมตร เริ่มต้นจากในตัวเมืองเชียงใหม่ ขับขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย ที่ต้องใช้กำลังไฟฟ้ามากกว่าการขับทางราบ จากนั้นเดินทางกลับสู่ที่พัก ซึ่งการทดสอบขับนี้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากการชาร์จเพียงเต็มครั้งเดียวเท่านั้น

    ในเรื่องการตอบสนองให้อารมณ์ทันท่วงทีจากระบบขับเคลื่อนที่มี แรงบิด 320 นิวตัน-เมตร จากการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 150 แรงม้า มาหมุนปั่นที่ล้อหน้าพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 40 กิโลวัตต์ (ตามสเปกมีการเคลมเอาไว้ว่าสามารถวิ่งได้ไกลสุด 311 กิโลเมตร / การชาร์จ 1 ครั้ง) กำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าล้วน ทำให้การไต่เขานั้น กระฉับกระเฉงกว่าการใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปภายในอย่างมาก และมาตั้งแต่รอบแรกที่ทำการกดเท้าไปที่คันเร่ง มันจึงไม่ต้องรอรอบ รอเกียร์จับ สามารถพารถไต่ท้าทายความชันของตัวเขาได้อย่างสบายสามารถให้อัตราเร่งที่ดี และการทรงตัวที่น่าประทับใจจากการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ใหม่ ระบบควบคุมทำงานเชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์วัดองศาการเลี้ยวของพวงมาลัย และระบบกันสะเทือนแบบทอร์สชั่น บาร์ พร้อมเทคโนโลยีควบคุมการขับขี่อัจฉริยะ (Intelligent Ride Control) เพื่อช่วยให้มอเตอร์ไฟฟ้ามีการทำงานที่แม่นยำมากขึ้นในการสร้างแรงบิดที่เหมาะสมเมื่อเข้าโค้ง ส่วนอีกหนึ่งไฮไลท์ คือ อี-เพดัล ระบบคันเร่งอัจฉริยะที่สามารถเร่งหรือชะลอความเร็วรถยนต์และหยุดรถ ได้เพียงการใช้คันเร่งอันเดียวนอกเหนือไปจากความสะดวกสบายที่ได้รับ  ยังทำให้ได้รับประสบการณ์การขับขี่ที่ได้ฟีลลิ่งความสนุก จากการใช้ให้ทำหน้าที่เป็น Engine Brake ในการขับขึ้น-ลงเขา เลาะเลี้ยวผ่านโค้งลาดชัน บนถนนขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ที่มีช่องจราจรเดียวได้เป็นอย่างเป็นอย่างดี

 

เพิ่มระยะทางในการขับขี่ ด้วยระบบฟื้นฟูพลังงานด้วยการเบรก

      แน่นอนว่าในขาขึ้นไต่เขา ไม่มีข้อสงสัยในอัตราเร่ง แต่การใช้กำลังของมอเตอร์ไฟฟ้านั้น ก็ต้องสูงขึ้นอย่างแน่นอน ไฟฟ้าในแบตเตอรี่จึงต้องถูกดึงมาใช้งานอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมาก ส่วนในขากลับตอนลงดอยนั้นใช้วิธีขับไหลลงเขามา โดยการเปิดระบบ ECO ที่จะลดการใช้งานไฟฟ้าได้  แล้วให้การหมุนของล้อนั้นช่วย Regenerate ไฟฟ้าให้กลับไปเก็บที่แบตเตอรี่ จะได้เอาไฟที่ชาร์จกลับมาใหม่เพื่อขับกลับไปให้ถึงปลายทาง

       หลักการทำงานของระบบ Regenerative Braking System นี้ มอเตอร์ไฟฟ้าจะเปลี่ยนพลังงานที่สูญเสียจากการเบรกกลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ในระหว่างทางลดจากยอดดอยอินทนนท์ ตัวรถจะสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้ากลับมาได้สูงสุดถึงกว่า 20% แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความสามารถดังกล่าว ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการขับขี่และความลาดชันของเส้นทาง โดยการขับในโหมด ‘B' จะช่วยให้ผู้ขับขี่ได้การฟื้นฟูพลังงานที่มากยิ่งขึ้นในขณะที่ชะลอความเร็ว ซึ่งช่วยเพิ่มระยะทางในการขับขี่ที่ภาระไปอยู่ที่ระบบเบรกซึ่งให้พลังชะลอหยุดดี พร้อมช่วยเติมกระแสไฟฟ้ากลับเข้าแบตเตอรี่สุดท้ายกลับมาถึงปลายทางพร้อมเหลือกระแสไฟฟ้าอีก 13% จากตอนเริ่มต้น 100% ตามหน้าจอแสดงผล ด้วยระยะทางวิ่งรวมทั้งหมดตลอดทริปอยู่ที่ 206 กม.ในการพิสูจน์ตัวเองในเรื่องการชาร์จไฟฟ้ากลับด้วยตัวเองที่มีประสิทธิภาพ สามารถยืดระยะการใช้งานไปได้อีก

      แม้ภาพรวมสำหรับการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงแรก ในบ้านเรา บริษัทฯ ผู้ผลิตคงต้องเหนื่อยกันนิดหน่อย ในการปั้นและสร้างโอกาสทางการตลาด เพราะต้องยอมรับภาษีนำเข้าที่สูงลิ่ว ถึงแม้ว่าความนิยมในรถไฟฟ้าของประเทศไทยจะยังมีไม่มาก  และปัจจุบันจะมีเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่เป็นรถยนต์แบบไฟฟ้าล้วน EV ที่มีจำหน่ายอยู่ แต่เชื่อว่า Nissan Leaf คันนี้มีดีพอที่จะกระตุ้นกระแสรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราได้บ้าง

 

ล้อมกรอบ ข้อมูลจำเพาะของนิสสัน ลีฟ

ความจุ 5 ที่นั่งผู้โดยสาร

น้ำหนักสุทธิของรถ 1,523 กิโลกรัม

แบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออน

ความจุ 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง

มอเตอร์ไฟฟ้า ชื่อรุ่น EM57

กำลังขับสูงสุด 110 kW (150 ps)/3283~9795 rpm

แรงบิดสูงสุด 320 N・m (32.6 kgf・m)/0~3283 rpm

ระยะทางที่สามารถขับขี่ได้ 311 กิโลเมตร (NEDC mode)

 

วิธีการชาร์จไฟฟ้า 3 วิธีหลัก

  •  การชาร์จจากไฟบ้านปกติ เช่นเดียวกับการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จสมาร์ทโฟน โดยใช้เคเบิลอเนกประสงค์ ที่มาพร้อมกับรถยนต์ โดยส่วนมากเป็นการชาร์จแบบข้ามคืน ใช้เวลาชาร์จประมาณ 12-16 ชั่วโมง
  •  การชาร์จจากเครื่องชาร์จไฟฟ้า หรือ Wall Box Charging จากที่บ้าน ที่ทำงาน หรือในที่อื่นๆ ที่มีการติดตั้ง ซึ่งจะสามารถชาร์จไฟฟ้าให้เต็มได้ภายในระยะเวลา 6-8 ชั่วโมง
  • การชาร์จแบบด่วน Quick Charge เป็นการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง โดยใช้เวลาชาร์จเพียงแค่ 40-60 นาที เพื่อชาร์จให้แบตเตอรี่มีความจุที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่มักมีติดตั้งในพื้นที่ที่ชาร์จสะดวก เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือที่สาธารณะต่างๆ

 

 เทคโนโลยีความปลอดภัยใน นิสสัน ลีฟ  

      ระบบ ABS และระบบกระจายแรงเบรก EBD และระบบเสริมแรงเบรก BA, เทคโนโลยีเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning: FCW) เทคโนโลยีช่วยเบรกฉุกเฉิน (Forward Emergency Braking: FEB), เทคโนโลยีช่วยควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง (Active Trace Control: ATC), ถุงลมนิรภัย 6 ลูก, กล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง (Intelligent Around View Monitor: IAVM) พร้อมเทคโนโลยีเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน (Moving Object Detection: MOD), ระบบช่วยควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวอัตโนมัติ (Vehicle Dynamic Control: VDC), ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (Hill Start Assist: HSA) รวมทั้งเบรกมือไฟฟ้า

 

AFTER DRIVE BY KAN YENSABAI

“นิสสัน ลีฟ คือคำตอบของสมรรถนะที่ดี ในแบบรถยนต์ไฟฟ้า”

      ขอชื่นชมในเรื่องสมรรถนะ บนเส้นทางการขับขี่ หลังลองขับไป-กลับ หางดงถึงยอดดอยอินทนนท์ กับพลังที่ได้รับจากมอเตอร์ไฟฟ้า ที่เพียงพอและพอเพียง ต่อการเลาะเลี้ยวผ่านโค้งลาดชัน และทำความเร็วเดินทางและตอบสนองการควบคุมได้ไม่ต่างรถยนต์เชื้อเพลิงทั่วไปครับ แรงดึงที่ได้ แรงยังกับรถเบนซิน 2,500 เทอร์โบ การขับขึ้น-ลงเขาไม่มีแรงหน่วงของเครื่องยนต์ ขับได้สนุกและกระฉับกระเฉง และมีเรื่องเด่นคือการทำงานเงียบและแรงบิดที่มาในรอบต่ำอย่างต่อเนื่องของรถ และการชาร์จไฟฟ้ากลับได้ด้วยตัวเองที่มีประสิทธิภาพ สามารถยืดระยะการใช้งานไปได้อีก

      ตอบคำถามในเรื่อง คุ้มหรือไม่ ? ถ้าคุณมองรถคันนี้ไว้เป็นคำตอบของรถยนต์คันแรกของครอบครัว  หรือรถที่เน้นการใช้งานจริงจัง แล้วไปเทียบกับราคาค่าตัว หลายเสียงอาจบอกว่าแพงไป ถ้าเทียบกับคู่แข่งอย่าง Hyundai IONIQ จะเป็นทรงแบบ Sedan ที่ราคาจะต่างกันอยู่ 250,000 บาทและ MG ZS EV ในแบบครอสโอเวอร์ ทีมีราคาค่าตัวถูกกว่า 600,000 บาท แต่สำหรับผม นิสสัน ลีฟ เป็นรถ EV ที่รูปทรงมีคาแร็คเตอร์แตกต่าง และดูทันสมัยกว่า (แต่ทั้ง 3 รุ่น ก็มีคุณสมบัติและอุปกรณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกันไป) และยังดูหล่อๆ อินเทรนด์ กับการเป็นรถ CBU นำเข้าแท้ๆ มาทั้งคันจากญี่ปุ่นเสียด้วย  

     ที่สำคัญหากคุณเปิดใจมองรถคันนี้ในแง่ความน่าสนใจความเป็น Born to Be EV สมรรถนะนวัตกรรม และความสะดวกสบาย และการมีพื้นฐานการออกแบบของการพัฒนา เพื่อให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มแรกของสายพานการผลิต รถคันนี้มันก็ดูคุ้มค่า และคงมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มเฉพาะที่ซื้อมาเพราะอยากลองใช้รถไฟฟ้า สนใจในเรื่องความก้าวหน้าของรถยนต์

     เพราะหมายความว่า หลังคุณตัดสินใจคบหารถคันนี้ นอกจากราคาค่าตัวรถเริ่มต้น 1,990,000 บาท และค่าติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้า หรือ Wall Box Charging ที่คุณต้องจ่ายเพิ่มต่างหากแล้ว (ประมาณ 75,000 บาท) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ หลังจากนั้นคุณตัดทิ้งจากระบบบัญชีไปได้เลย ทั้งค่าน้ำมันและค่าซ่อมบำรุงรถตามระยะทางไปได้เลย แลกกับมลพิษที่จะไม่ได้ปล่อยมันออกมาเลยตลอดอายุการใช้งาน เตรียมอย่างเดียวคือ ตังค์ในกระเป๋าไว้จ่ายค่าไฟเป็นพอครับ