ปรับ และ เปลี่ยน…พฤติกรรมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ สู้วิกฤตพลังงานโลก ครั้งใหญ่

  • September 08, 2022

วิกฤตราคาพลังงานที่ยังผันผวนทั่วโลก ทำให้หลายประเทศประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานอย่างหนักและต้องเผชิญกับราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ฝรั่งเศสประกาศแผน Energy Sobriety รับมือวิกฤตพลังงานโลก

 ที่ประเทศฝรั่งเศส ออกมาตรการประหยัดพลังงาน โดยให้ห้างร้านต่างๆร่วมมือกันปิดประตูเข้าออกในขณะเปิดเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความร้อน   เนื่องจากฝรั่งเศสพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย 1 ใน 5 ดังนั้น จึงประกาศแผนพลังงาน Energy Sobriety ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม โดยอยู่ในระหว่างการดำเนินการร่างแผนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้เกิดมาตรการประหยัดพลังงานในฝรั่งเศส

โดยตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานลง ร้อยละ 10 ภายในปี 2024 รัฐบาลออกมาตรการประหยัดพลังงานโดยให้ห้างร้านต่างๆร่วมมือกันปิดประตูเข้าออกในขณะเปิดเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความร้อน  และห้ามเปิดใช้ป้ายโฆษณาที่ใช้ไฟฟ้าส่องสว่างในทุกเมืองระหว่างช่วงเวลา 1.00 น ถึง 6.00 น ซึ่งเป็นมาตรการที่บังคับใช้กับเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 800,000 คน

 

ญี่ปุ่นเริ่มประหยัดไฟทั่วประเทศนาน 3 เดือนครั้งแรกใน 7 ปี

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอความร่วมมือจากบริษัทและบ้านเรือนทั่วประเทศให้ช่วยกันประหยัดไฟ   เนื่องจากอาจเกิดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว คาดว่าการจ่ายไฟฟ้าในญี่ปุ่นจะเข้มงวดมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวโดยกำลังการผลิตส่วนเกินโดยประมาณจะลดลงต่ำกว่า 3%  ใน 10 ภูมิภาคทั้งหมด ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์รวมถึงพื้นที่โตเกียวซึ่งคาดว่าจะลดลงต่ำกว่า 0% (ในเดือนมิถุนายน 2565)

-ครัวเรือนและภาคธุรกิจญี่ปุ่นต้องเข้าสู่ช่วงเวลาประหยัดไฟฟ้านาน 3 เดือนนับจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เพื่อป้องกันการขาดแครนไฟฟ้าในช่วงอากาศร้อนจัดทะลุสถิติโดยรัฐบาลต้องประกาศใช้มาตรการนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี

-สภาพอากาศในกรุงโตเกียววัดอุณหภูมิได้สูงสุด 37 องศาเซลเซียสและสูงเกินกว่าเกณฑ์อากาศร้อนจัดที่ 35 องศาเซลเซียสเป็นวันที่ 7 ติดต่อกัน แล้วและในจังหวัดไอจิวัดอุณหภูมิได้สูงสุดถึง 38.2 องศาเซลเซียสด้วยสภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่งขึ้นสูงสุดและคาดว่าปริมาณกระแสไฟฟ้าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ

-รัฐบาลจึงประกาศขอความร่วมมือจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจให้ร่วมกันลดการใช้ไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่กรกฎาคม-กันยายน โดยไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลไม่ได้กำหนดเป้าหมายของปริมาณการประหยัดไฟฟ้าทั่วประเทศครั้งนี้ นอกจากแนะนำให้ประหยัดการใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 17:00 น ถึง 20:00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่การผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ลดลง

- รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศปรับนโยบายพลังงานครั้งสำคัญโดยจะกลับมาผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้น และเตรียมสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่เพื่อสนับสนุนเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนและสำรองปริมาณไฟฟ้าให้เพียงพอ

-การตัดสินใจครั้งนี้เป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานครั้งสำคัญหลังจากรัฐบาลสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนใหญ่และสัญญาจะไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่อีก นับจากเกิดวิกฤตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลายที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเมื่อปี 2554

 

เวียดนาม ผลักดันให้เมืองและจังหวัดพัฒนาโครงการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

 เวียดนามรัฐบาลได้ร่างแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยประสิทธิภาพพลังงาน การประหยัด และการอนุรักษ์ทรัพยากรพลังงานการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานมีความสำคัญสูงสุดสำหรับเวียดนาม เพื่อจัดการความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น 100% ต่อปี โดยคาดว่าจะประหยัดพลังงานได้ 8-10% ของการใช้พลังงานทั่วประเทศ  และลดการสูญเสียพลังงาน power loss ให้ได้ 6% จนถึงปี 2030 โดยมีมาตรการดังนี้

 1. ลดการสูญเสียพลังงานในกระบวนการอุตสาหกรรมให้ต่ำกว่า 6.5%

2. ส่งเสริมให้ 70% ของนิคมอุตสาหกรรมและ 50% ของกลุ่มอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและใช้มาตรการการประหยัดพลังงานได้

 3 .ใช้ระบบจัดการพลังงานในสถานประกอบการและผู้ประกอบการขนส่งโดยใช้โปรแกรมเพิ่มพูนทักษะในการควบคุมยานพาหนะและการแก้ปัญหาทางเทคนิคเพื่อประหยัดพลังงาน

 4. ผลักดันให้เมืองและจังหวัดร้อยละ 90 ต้องพัฒนาโครงการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ไทย เร่งปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง ควบคู่ มาตรการประหยัดอย่างเข้มข้น

 ส่วนในประเทศไทย ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงานแพง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงควบคู่กับการดำเนินมาตรการประหยัดอย่างเข้มข้น โดยตั้งเป้าให้หน่วยงานภาครัฐลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันลง 20% ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต่างขานรับมาตรการลดใช้พลังงานอย่างเต็มที่ ทั้งในส่วน ของมาตรการที่ปฏิบัติได้ทันที ด้านไฟฟ้า ในส่วนเครื่องปรับอากาศ เช่น กำหนดเวลาเปิด - ปิด 8.30 น. - 16.30 น. ตั้งอุณหภูมิ 25 - 26 c ล้างแอร์ทุก 6 เดือน, แสงสว่าง เช่น ใช้หลอดไฟ LED ตั้งโปรแกรมปิดหน้าจออัตโนมัติ เมื่อไม่ใช้งาน, ลิฟต์ อาจให้หยุดเฉพาะชั้นคู่/คี่ และรณรงค์การใช้บันได และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแทนการเดินทาง เช่น การประชุมออนไลน์ การจัดส่งเอกสารทางอีเมล์

นอกจากนี้ ยังให้นำมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานมาใช้กับหน่วยงานราชการ รวมทั้งจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือยานพาหนะใหม่ทดแทนของเดิมที่เสื่อมสภาพ

 

ปรับ และ เปลี่ยน พฤติกรรมการใช้พลังงาน ด้วย เคล็ดลับ4 . 3 .

 เมื่อทั่วโลกต่างเปิดโหมดประหยัดพลังงานสู้วิกฤตครั้งใหญ่แล้ว คนไทยพร้อมช่วยกันประหยัดพลังงานหรือยังสำหรับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ก็สามารถช่วยประเทศด้วยการประหยัดพลังงานได้ง่าย ๆ ทั้งการใช้ไฟฟ้าและเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว และเคล็ดลับประหยัดพลังงานที่เรียกว่า 4 ป. 3 ช. ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานที่ทุกคนสามารถทำตามได้ง่ายๆ แต่จะช่วยประหยัดพลังงานได้อย่างมหาศาล ดังนี้

 

เคล็ดลับ 4 ป. ได้แก่

 ปิดไฟ หลอดไฟ เลือกใช้หลอดไฟแอลอีดี (E27) ขนาด 7 วัตต์ แทนหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (CFL) ขนาด 13 วัตต์ และปิดสวิตซ์ทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน

ปรับแอร์  เครื่องปรับอากาศ ควรเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว มีขนาดเหมาะสมกับขนาดห้อง ตั้งอุณหภูมิที่ 25-26 องศาเซลเซียส เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะช่วยลดค่าไฟฟ้าประมาณ 10% ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท และล้างแอร์อย่างน้อยทุก 6 เดือน

ปลดปลั๊ก เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว และถอดปลั๊กทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน

เปลี่ยนเป็นเบอร์ 5 เลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว ทั้ง ตู้เย็น พัดลม เตารีด โทรทัศน์

 

เคล็ดลับ 3 ช. ได้แก่

เช็กรถ  หมั่นตรวจสภาพรถยนต์ ให้อยู่ในสภาพดีและพร้อมสำหรับการใช้งานรถยนต์ เพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัยประหยัดน้ำมัน และการยืดอายุการใช้งานให้นานยิ่งขึ้น .ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เลือกใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับการเดินทางและจำนวนผู้เดินทาง ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น แก๊สโซฮอล์ไบโอดีเซลก่อนเป็นอันดับแรก, ตรวจเช็คระยะและเติมลมยางให้เหมาะสม

 ชัวร์เส้นทาง เส้นทางที่ดีจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง และทำให้วางแผนการเดินทางได้ถูกต้อง

ใช้รถสาธารณะ แทนรถยนต์ ส่วนตัว  เพื่อลดปริมาณมลพิษและลดควันพิษ บนท้องถนน

 ขอให้ช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเท่าที่ทำได้โดยที่ตัวเองไม่ลำบาก สิ่งสำคัญก็คือ เปิดเท่าที่ใช้ และก็ใช้ให้คุ้ม ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวคุณนั่นเอง และเท่ากับเป็นการช่วยประเทศ ลดการใช้พลังงานในภาพรวม ช่วยลดความเสี่ยงด้านพลังงานและลดการนำเข้าพลังงานราคาสูงเพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤตพลังงานในครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน